อาวุธ » กองทัพเรือสหรัฐฯ ใช้เรือรบไร้คนขับเพื่อเสริมทัพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค

กองทัพเรือสหรัฐฯ ใช้เรือรบไร้คนขับเพื่อเสริมทัพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค

4 กันยายน 2022
386   0

กองทัพสหรัฐฯ ให้น้ำหนักกับบทบาทด้านการทหารของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง..

ล่าสุด กองทัพเรือสหรัฐฯ หันมาพึ่งพาเรือรบไร้คนขับเพื่อเสริมทัพในภูมิภาคนี้แล้วโดยเชื่อว่าจะตอบโจทย์ยุทธศาสตร์และความมั่นคงในภูมิภาคมากขึ้น.

ข่าวเดิม

กองทัพสหรัฐฯ กำลังทดสอบนวัตกรรมทางทะเลชิ้นล่าสุด นั่นคือ เรือขนาด 40 เมตรที่ขับเคลื่อนด้วยตนเองและสามารถอยู่ในทะเลได้หลายวันหรือหลายเดือน และเดินทางได้หลายพันกิโลเมตรโดยปราศจากกัปตันหรือลูกเรือ

สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ดูแลการพัฒนาเรือรบผิวน้ำไร้คนขับที่รู้จักกันในชื่อ ซีฮันเตอร์ หรือชื่อเป็นทางการว่า เรือรบไร้คนขับสำหรับการตรวจจับและติดตามเรือดำน้ำอย่างต่อเนื่อง สำนักงานได้พัฒนาเรือรบดังกล่าวเพื่อติดตามเรือดำน้ำของข้าศึก แต่เทคโนโลยีที่มีอาจนำไปประยุกต์ใช้งานด้านการทหารอื่น ๆ และในเชิงพาณิชย์ เช่น การตรวจหาเหมืองแร่และนำทางเรือขนส่งสินค้าไร้คนขับไปยังท่าเรือ เจ้าหน้าที่ทหารกล่าว..

“นี่เป็นครั้งแรกที่เรามีเรือที่ควบคุมโดยหุ่นยนต์ทั้งหมดซึ่งมีขีดความสามารถในการข้ามมหาสมุทร” นายโรเบิร์ต เวิร์ก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มต้นขั้นตอนการทดสอบระยะเวลาสองปีเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 จะทำงานร่วมกับกองทัพเรือสหรัฐฯ เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเรือในการดำเนินกลยุทธ์นอกชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย

“มีข้อดีมากมายที่เรายังคงพยายามที่จะเรียนรู้” นายสกอตต์ ลิตเติลฟิลด์ ผู้จัดการโครงการของสำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวกับดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส เรือรบต้นแบบสามารถแล่นด้วยความเร็วราว 48 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหรือ 26 นอต และอาศัยระบบการมองเห็นขั้นสูงและเซนเซอร์จำนวนมากเพื่อหลีกเลี่ยงการชนกับเรือลำอื่น ๆ สื่อต่าง ๆ ระบุ

เป้าหมายของสำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ คือ การออกแบบเรือรบที่ “มีประสิทธิภาพแพลตฟอร์มที่ล้ำสมัยเพื่อมอบพลังขับเคลื่อนที่เหนือกว่าเรือดำน้ำไฟฟ้าพลังงานดีเซล โดยมีขนาดและต้นทุนเพียงแค่เศษเสี้ยวเท่านั้น” จากการรายงานผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน

“สำหรับการปฏิบัติการทางทหารของเรา เราต้องการให้มั่นใจว่าเรามีเรือรบไร้คนขับเช่นนี้เพื่อเสริมภารกิจของมนุษย์เพื่อที่เราจะไม่เอาชีวิตของเจ้าหน้าที่ไปเสี่ยงโดยไม่จำเป็น” นายจาเร็ด อดัมส์ โฆษกสำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวกับเว็บไซต์ สตาร์ส แอนด์ สไตรป์ส

“เราไม่ได้กำลังทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีปราบเรือดำน้ำเพียงเพราะเราคิดว่าเป็นสิ่งยอดเยี่ยม แต่เรากำลังทำในเรื่องนี้เพราะว่าเรากังวลอย่างมากเกี่ยวกับความก้าวหน้าที่จีนและรัสเซียกำลังทำในเรื่องนี้” นายปีเตอร์ ซิงเกอร์ นักเขียน นักยุทธศาสตร์และนักวิจัยอาวุโสที่มูลนิธินิวอเมริกาซึ่งเป็นคณะวิจัยที่มีฐานในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวกับรอยเตอร์

เรือดังกล่าวมีต้นทุนในการพัฒนาอยู่ที่ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 4.2 พันล้านบาท) แต่ในขณะนี้สามารถผลิตเรือรบได้ที่ต้นทุนลำละ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 700 ล้านบาท) ประมาณการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ระหว่าง 15,000 ถึง 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 5.25 ถึง 7 แสนบาท) ต่อวัน

“ตอนนี้เรามีสินทรัพย์ที่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของต้นทุนของเรือที่ใช้คนขับ” พล.ร.ต. โรเบิร์ต กิเรีย ผู้อำนวยการระบบการสงครามแบบไร้คนขับแห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าวกับรอยเตอร์

ขณะนี้กองทัพกำลังสำรวจวิธีการต่าง ๆ ที่จะสนับสนุนความมั่นคงด้านไซเบอร์ของเรือหุ่นยนต์ดังกล่าวเพื่อปกป้องเรือจากแฮกเกอร์ นายลิตเติลฟิลด์กล่าวกับดิแอสโซซิเอทเต็ด เพรส

นอกจากนั้น สำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กำลังพัฒนาระบบไร้คนขับอื่น ๆ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพเรือสหรัฐฯ อันประกอบด้วยระบบทางอากาศไร้คนขับเพื่อปล่อยขึ้นจากเรือที่มีดาดฟ้าขนาดเล็กเพื่อหาข่าวกรอง ตรวจการณ์ และลาดตระเวนระยะไกล จากการรายงานผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานโครงการวิจัยขั้นสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ.

cr:https://ipdefenseforum.com/th/2016/05/%E0%B8%AA%E0%B8%A..
https://www.google.com/..QAw&biw=1366&bih=682&dpr=1#imgrc..