ณ วันนี้ที่รัสเซียเพลี่ยงพล้ำอย่างหนักในยูเครนตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ปฏิบัติการโต้กลับของกองทัพเคียฟยังคงดำเนินต่อไป โดยได้รับทั้งเงิน ทั้งอาวุธจากอเมริกาและกลุ่มนาโต้ที่สหรัฐฯเป็นหัวหอกหลัก ทำให้เกิดความกังวลเรื่องก้าวต่อไปของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งดูเหมือนจะเหลือทางเลือกไม่มาก และอาจถึงขั้นตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์..
วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งรัสเซีย ออกแถลงการณ์เมื่อวันอังคารที่ 20 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา ประกาศระดมกำลังพลสำรองจำนวน 300,000 นาย ส่งเข้าไปเสริมกำลังในยูเครน และขู่ชาติตะวันตกว่า พร้อมใช้อาวุธทุกอย่างรวมถึงนิวเคลียร์ เพื่อปกป้องดินแดนของประเทศ โดยย้ำว่า “นี่ไม่ใช่คำขู่”
แม้ปูตินระดมทหารส่งเข้าสู่ยูเครนเพิ่ม แต่คาดกันว่า กระบวนการนี้จะใช้เวลานานหลายเดือน ทำให้ยังคงมีความเป็นไปได้ที่เขาจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครน โดยเฉพาะอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี (tactical nuke) ที่มีขนาดเล็กกว่า เพื่อหยุดการสนับสนุนของชาติตะวันตก และสร้างความได้เปรียบทางจิตวิทยา
อะไรจะเกิดขึ้นหากรัสเซียตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาจริงๆ? ชาติตะวันตกจะรับมือกับปัญหาอันซับซ้อนนี้อย่างไร เพราะหากตอบโต้รุนแรงเกินไป ก็อาจทำให้สถานการณ์บานปลายกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ แต่ถ้าเบาเกินไป ก็อาจทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายยิ่งกว่าตามมา
ตามการวิเคราะห์ของสำนักข่าว วอชิงตัน โพสต์ สื่อใหญ่ของสหรัฐฯ เดิมทีปูตินไม่ได้ต้องการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และไม่อยากให้สงครามในยูเครนยืดเยื้อ แต่เป็นเพราะเขายังชนะไม่ได้ ทำให้เขาอาจตัดสินใจใช้อาวุธมหาประลัยนี้
สำหรับปูติน การใช้อาวุธนิวเคลียร์ไม่ใช่หนทางพลิกจากแพ้เป็นชนะ แต่เป็นการคว้าทางรอดทางการเมืองและทางกายด้วย เพราะไม่เหมือนผู้นำชาติประชาธิปไตยอื่นๆ เขาไม่มีหนทางลงจากอำนาจอย่างสงบสุขหลังสร้างความเสียหายไว้มากมายเช่นนี้ มีตัวอย่างในประวัติศาสตร์ให้เห็นแล้วในราชวงศ์ซาร์ เขารู้ดีว่าไม่มีทางจบสวย
ด้วยเหตุนั้น ปูตินอาจใช้หลักการที่ชาติตะวันตกเรียกว่า ‘บานปลายเพื่อลดการบานปลาย’ (escalate to de-escalate) ใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อหลีกเลี่ยงความพ่ายแพ้ในสงครามตามรูปแบบที่ปราศจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์ เขาอาจกดระเบิดนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี 1 ลูกหรือมากกว่า โดยนิวเคลียร์ประเภทนี้มีแรงระเบิดพอแค่ทำลายฐานที่มั่นของกองทัพยูเครน หรือศูนย์กลางการขนส่ง แต่เล็กเกินกว่าจะถล่มทั้งเมือง
การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์จะเป็นการส่งสัญญาณว่า ปูตินพร้อมจะทำอีก ซึ่งอาจทำให้กองทัพยูเครนตัดสินใจยอมแพ้ ขณะที่ชาติตะวันตกอาจตัดสินใจถอนตัวจากความขัดแย้ง เพื่อที่เขาจะได้สามารถประกาศชัยชนะ และอยู่ในอำนาจต่อไปได้
แต่ผลที่ตามมาจริงๆ นั้นเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดา การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์อาจส่งผลเสียแก่รัสเซียแทน เนื่องจากแนวหน้าการปะทะในยูเครนมีความยาวมาก และทหารเคียฟก็กระจายตัวกันไป ทำให้นิวเคลียร์ทางยุทธวิธีสร้างความเสียหายได้ไม่มากไปกว่าอาวุธตามแบบแผนที่ใช้กันอยู่ การควบคุมกัมมันตภาพรังสีก็ทำได้ยาก และอาจทำร้ายต่อทหารฝ่ายตัวเอง และดินแดนที่ถูกโจมตีด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น การใช้อาวุธนิวเคลียร์จะสร้างความหวาดกลัวไปทั่วโลก และทำให้สหรัฐฯ นาโต มีมาตรการตอบโต้ที่รุนแรงยิ่งขึ้นตามมาอย่างแน่นอน ซึ่งอาจทำให้สงครามยืดเยื้อออกไปอีก
ความวุ่นวายที่จะตามมา
จนถึงตอนนี้ อาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ประเทศขนาดใหญ่และมหาอำนาจทางทหารมีในครอบครอง แต่ไม่ใช่สำหรับประเทศขนาดเล็ก แต่การใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียจะทำลายข้อห้ามยุคสงครามเย็น ที่ห้ามใช้อาวุธนิวเคลียร์นอกจากการป้องปรามเท่านั้น หากรัสเซียรอดไปได้โดยไม่ถูกลงโทษ ก็จะกลายเป็นแบบอย่างให้ประเทศหัวรุนแรงอื่นๆ ทำตาม ขณะที่ชาติซึ่งละทิ้งอาวุธนิวเคลียร์ไปแล้วอย่างเช่นยูเครน ก็อาจกลับมาสร้างขุมกำลังนิวเคลียร์ของตัวเอง
ตัวอย่างมีให้เห็นมาแล้วในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นายกรัฐมนตรี คอนราด อเดนอยเออร์ แห่งเยอรมนีมีแผนสร้าง ระเบิดยูโรเปียน ร่วมกับฝรั่งเศสและอิตาลี เพื่อไม่ต้องพึ่งพานิวเคลียร์ของสหรัฐฯ รัฐมนตรีกลาโหมของทั้ง 3 ประเทศถึงกับเคยลงนามข้อตกลงลับร่วมกันในเดือนพฤศจิกายน 2500 แต่โครงการกลับถูกล้มเลิกโดยประธานาธิบดี ชาร์ลส์ เดอ โกล ที่ต้องการให้ฝรั่งเศสมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง
ชาติยุโรปหลายประเทศก็มีการพิจารณาพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเยอรมนี, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร หรือแม้กระทั่ง สวีเดน ซึ่งผลการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ชี้ว่า พวกเขาเข้าใกล้การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์มากกว่าที่เคยคิดเอาไว้
การละเมิดข้อห้ามเรื่องการใช้อาวุธนิวเคลียร์ จะทำให้มีการพัฒนาระเบิดปรมาณูมากขึ้น และสงครามนิวเคลียร์ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ จะมีโอกาสเกิดสูงขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่ตะวันตก ไปจนถึงเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก
นายแมทธิว โครนิก จากสภาแอตแลนติก คณะวิจัยเก่าแก่เรื่องกิจการระหว่างประเทศในสหรัฐฯ วิเคราะห์ทางเลือกที่สหรัฐฯ และชาติตะวันตกสามารถทำได้เพื่อป้องปรามหรือจำกัดการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย อย่างแรกคือ การยกระดับมาตรการลงโทษมอสโกที่ใช้อยู่ให้รุนแรงขึ้นอีกหลายเท่าตัว ตัดขาดรัสเซียจากโลกตะวันตกอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่แค่เล็มออก และส่งอาวุธให้ยูเครนมากขึ้น และเพิ่มกองกำลังของนาโตในแนวหน้าฝั่งตะวันออก รวมถึงอาวุธนิวเคลียร์
ปัญหาคือ มาตรการนี้อาจไม่น่ากลัวเพียงพอเปลี่ยนใจปูติน เพราะรัสเซียโดนคว่ำบาตรหนักอยู่แล้ว หากเขาจนตรอกขึ้นมา ก็ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ทุ่มหมดหน้าตัก ขณะเดียวกัน แผนการเดียวกันนี้อาจจะดูน้อยเกินไปสำหรับชาวยูเครน ทำให้ชาติพันธมิตรเสียกำลังใจ และเป็นตัวอย่างให้ผู้นำเผด็จการอย่าง คิม จอง-อึน แห่งเกาหลีเหนือเห็นว่า พวกเขาสามารถยิงขีปนาวุธแล้วรอดตัวไปได้
การตอบสนองของชาติตะวันตก โดยเฉพาะลูกพี่ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ต้องเข้มแข็งกว่านี้ โจ ไบเดน มีตัวเลือกทางทหาร 2 ทาง อย่างแรกคือ ยิงมายิงกลับ ขู่ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีลงมหาสมุทรอาร์กติก หรือในพื้นที่รกร้างในไซบีเรีย เพื่อกดดันรัสเซียและสร้างความมั่นใจให้ยูเครนกับพันธมิตร ว่าสหรัฐฯ พร้อมที่จะตอบโต้ และพร้อมที่จะใช้นิวเคลียร์เพื่อการป้องปราม
แต่วิธีนี้จะทำให้เกิดการเผชิญหน้ากัน มีความเป็นไปได้ที่ทั้งสองฝ่ายจะยิงนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีตอบโต้กันหลายสิบลูก ซึ่งฝ่ายรัสเซียดูท่าจะได้เปรียบ เพราะถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีระเบิดนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ (strategic nuke) ใกล้เคียงกัน แต่มอสโกมีอาวุธประเภทนี้มากกว่าสหรัฐฯ ร่วม 10 เท่า และสถานการณ์อาจบานปลายไปเป็นสงครามนิวเคลียร์
ตัวเลือกทางทหารอีกข้อของไบเดนคือ ยิงนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีใส่ฐานทัพรัสเซียในยูเครน เพื่อบอกปูตินว่า เขาจะใช้หลักการ บานปลายเพื่อลดการบานปลายไม่ได้ เพราะสหรัฐฯ จะขัดขวาง แต่นั่นอาจทำให้เกิดการปะทะกันโดยตรงระหว่างรัสเซียกับนาโต และสุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งจะจบลงด้วยสงครามนิวเคลียร์เช่นกัน
หากไบเดนตัดสินใจเรื่องมาตรการตอบสนองต่อสถานการณ์นิวเคลียร์ในระดับต่างๆ ได้แล้ว คำถามสำคัญคือ เขาจะสื่อสารไปยังปูติน, พันธมิตร, ศัตรู และสังคม อย่างไร? ถ้าไบเดนต้องการป้องปรามการใช้นิวเคลียร์ของรัสเซีย เขาต้องสื่อสารออกมาอย่างเจาะจงชัดเจน ว่าถ้าปูตินทำอย่างนั้น สหรัฐฯ จะตอบโต้แบบนี้ แต่ปัญหาคือไบเดนอาจยอมอ่อนข้อหากการกระทำของปูตินไม่ตรงตามเงื่อนไขที่เขากำหนด
อีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีที่ไบเดนชอบใช้ คือการบอกออกไปอย่างกำกวม ซึ่งข้อเสียคือทำให้แม้แต่ชาวยูเครนยังต้องตั้งคำถาม แต่มันอาจทำให้ปูตินต้องคิดเผื่อสถานการณ์เลวร้ายที่สุด..
แสงแห่งความหวัง แม้จะเพียงน้อยนิด
ตอนนี้สงครามในยูเครนยังคงดำเนินต่อไป และโอกาสที่รัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์สูงกว่าที่ผ่านมา แต่มีแสงแห่งความหวังเกิดขึ้นเล็กน้อย ที่การประชุมสุดยอดในอุซเบกิสถาน เมื่อปูตินพบกับมหามิตรอย่าง สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ก่อนที่ผู้นำรัสเซียออกมายอมรับว่า จีนแสดงความกังวลและมีคำถามหลายข้อเกี่ยวกับการทำสงครามของเขาในยูเครน
แถลงการณ์หลังการพบปะของผู้นำทั้งสอง ไม่มีการใช้คำ “มิตรภาพไร้ขีดจำกัด” หรือ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อีกแล้ว” ทำให้ ศ.ชื่อ หยินหง ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัย เหรินหมิน ในกรุงปักกิ่ง ออกมากล่าวว่า นี่เป็นแถลงการณ์ที่ระมัดระวังและเงียบเชียบที่สุดในรอบหลายปีของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซีย
ในยุคสมัยของ สี จิ้นผิง เขาสานความสัมพันธ์กับรัสเซียอย่างใกล้ชิดที่สุด เพื่อสร้างสมดุลกับชาติตะวันตก และมีวิสัยทัศน์ร่วมกันเรื่องการจัดระเบียบโลกใหม่ เพื่อผลประโยชน์ที่มากขึ้นและไม่ถูกครอบงำโดยชาติตะวันตกอีกต่อไป จีนยังให้ความช่วยเหลือรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตรอย่างหนัก ด้วยการซื้อพลังงานและเชื้อเพลิง แต่ไม่สนับสนุนทางทหารโดยตรง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกคว่ำบาตร
ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอุซเบกิซถาน ทำให้นักวิเคราะห์ชาวจีนหลายคนมองว่า ความเพลี่ยงพล้ำของรัสเซีย กับการยกระดับสงครามของพวกเขา เปิดโอกาสให้จีนเว้นระยะห่างจากรัสเซียบ้าง เช่น ศ.ชื่อ หยินหง กล่าวว่า “จีนไม่มีทางเลือกนอกจากเว้นระยะห่างจากปูตินในระดับหนึ่ง เพราะการยกระดับสงคราม, ความก้าวร้าวและการควบรวมดินแดน และการขู่ทำสงครามนิวเคลียร์ของเขา” “จีนไม่อยากให้เพื่อนผู้ไม่ฟังคำเตือนผู้นี้ไปสู้ ชะตากรรมของเขาในสนามรบไม่ใช่สิ่งที่จีนจะจัดการได้เลย”
การเสียแรงสนับสนุนจากจีน อาจทำให้ปูตินพิจารณาเรื่องการเจรจาเพื่อยุติสงคราม แต่นางเธเรซา ฟอลลอน ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการศึกษารัสเซีย ยุโรป และเอเชีย ในกรุงบรัสเซลส์ ของเบลเยียม เชื่อว่า การเปิดเผยเรื่องความสงสัยของจีน อาจไม่ใช่สัญญาณที่บ่งบอกถึงรอยร้าวของทั้งสองฝ่าย แต่อาจเป็นการเปิดช่องให้จีนมีพื้นที่ทางการทูต โดยเฉพาะในตอนนี้ ที่การสนับสนุนรัสเซียของจีน ทำให้ภาพลักษณ์ของปักกิ่งในยุโรปเสียหายอย่างมาก
“สำหรับผลประโยชน์ในระยะยาวของจีน พวกเขาจะต้องเก็บรัสเซียเอาไว้เป็นพวกต่อไป” นางฟอลลอนกล่าว
เรียบเรียงจาก:https://www.thairath.co.th/news/foreign/2507936